หน้าเว็บ

หลวงพ่อโสธร (องค์จริง) ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา

หลวงพ่อโสธร (องค์จริง) ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อโสธร หรือ หลวงพ่อพระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระพุทธรูปหินทราย 11 ชิ้น สมัยอยุธยาตอนต้น หน้าตักกว้างประมาณ 1 ศอกเศษ เป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลมแป้น พระขนงโก่งเล็กน้อย พระเนตรเล็กหรี่ เหลือบลงต่ำ พระโอษฐ์เล็ก สีพระพักตร์ขรึมแบบอยุธยา ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมร แต่ได้เสริมแต่งขึ้นจากเดิมโดยพอกปูนในภายหลังและลงรักปิดทองให้เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 5 นิ้ว ศิลปะล้านช้าง (ปัจจุบันกะเทาะปูนออกแล้ว)

พุทธลักษณะ

หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ คือมีพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา มีส่วนสูง 6 ฟุต 7 นิ้ว พระเพลากว้าง 5 ฟุต 6 นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐาน อยู่ในพระอุโบสถหลวงวัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา

ตำนาน

ตำนานหลวงพ่อโสธรนั้น ตำนานไม่ได้กล่าวไว้ว่าใครเป็นผู้สร้างหรือสร้างเมื่อใด ทราบตามที่เล่าต่อๆ กันมาแต่เพียงว่า ในจังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือของไทย มีพระภิกษุสามองค์พี่น้อง เรียนพระธรรมวินัยแตกฉานแล้วก็จำแลงกายเป็นพระพุทธรูป
เมื่อมาถึงบริเวณหนึ่งก็ปรากฏองค์ขึ้น ชาวบ้านบริเวณนั้นพบเข้าก็พากันเอาเชือกมนิลามาฉุดขึ้น แต่ก็เอาขึ้นมาไม่ได้เพราะเชือกขาด ก่อนที่พระทั้งสามองค์จะจมหายไปบริเวณที่พระทั้งสามองค์ลอยทวนน้ำหนีนั้นเรียกว่า สามพระทวน ต่อมาได้เพี้ยนและเรียกว่า สัมปทวน อำเภอเมืองฉะเชิงเทราจนทุกวันนี้
ต่อมาได้มาผุดขึ้นที่คลองคุ้งให้ชาวบ้านแถวนั้นเห็นอีก ชาวบ้านก็พยายามชุดขึ้นฝั่งแต่ไม่สำเร็จอีก สถานที่นั้นเรียกว่า บางพระ มาจนทุกวันนี้ แต่นั้นมาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็ได้สำแดงอภินิหารในคลองเล็กๆ ตรงข้ามกองพันทหารช่างที่ 2 ฉะเชิงเทรา บริเวณนั้นเรียกว่า แหลมลอยวน คลองนั้นได้นามว่า คลองสองพี่น้อง ภายหลังก็เงียบไป
จวบจนองค์หนึ่งได้ลอยไปจนถึงแม่น้ำแม่กลอง และไปปรากฏขึ้นที่สมุทรสงคราม ชาวประมงได้พร้อมใจกันอาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดบ้านแหลมหรือวัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นที่นับถือของพุทธศาสนิกชนชาวสมุทรสงคราม เรียกกันว่า หลวงพ่อบ้านแหลม มาจนทุกวันนี้
องค์ที่สองได้ลอยวนไปวนมาและมาผุดขึ้นหน้า วัดหงษ์ เล่ากันว่า ที่วัดนี้เดิมมีเสาใหญ่มีหงษ์ทำด้วยทองเหลืองอยู่บนยอดเสานั้น จึงได้ชื่อว่าวัดหงษ์ ต่อมาหงษ์ที่ยอดเสาหักตกลงมาเสียชำรุด ทางวัดจึงเอาธงไปติดไว้ที่ยอดเสาแทนรูปหงษ์ จึงได้ชื่อว่าวัดเสาธง แล้วต่อมาก็เกิดมีพายุพัดเสานี้หักลงส่วนหนึ่ง จึงได้ชื่อว่าวัดเสาทอน และต่อมาชื่อนี้ได้กลายไปเป็นวัดโสธร
ประชาชนพลเมืองจำนวนมากได้พากันหลั่งไหลมาอาราธนาฉุดขึ้นฝั่งแต่ก็ไม่สำเร็จ ขณะนั้นมีอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษผู้รู้คนหนึ่งสำเร็จไสยศาสตร์หรือเทพไสยรู้หลักและวิธีอาราธนา จึงได้ทำพิธีปลูกศาลเพียงตาบวงสรวง กล่าวคำอัญเชิญชุมนุมเทวดาอาราธนา และได้ใช้สายสิญจน์คล้องที่พระหัตถ์ของพระพุทธรูปก่อนจะค่อยฉุดลากขึ้นมาบนฝั่ง พระพุทธรูปจึงเสด็จขึ้นมาบนฝั่งเป็นที่ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งของชาวเมือง จึงได้พร้อมใจกันอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ในพระวิหารวัดโสธร และเรียกนามว่า พระพุทธโสธร หรือ หลวงพ่อโสธร ตั้งแต่นั้นมา
ส่วนองค์สุดท้ายได้ลอยไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาประชาชนละแวกนั้นก็หลั่งไหลมาอาราธนาขึ้นฝั่งฉุดขึ้นเป็นการใหญ่แต่ก็ฉุดขึ้นไม่ได้ เล่ากันว่ามีประชาชนพากันมาฉุดนับได้ถึงสามแสนคน จึงเรียกสถานที่นั้นว่า สามแสน ภายหลังจึงเพี้ยนมาเป็น สามเสน และเรียกกันอยู่ทุกวันนี้ จากนั้นพระพุทธรูปองค์นี้ก็ลอยไปผุดขึ้นที่คลองสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนจึงได้ได้อาราธนาขึ้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดพลับพลาชัยชนะสงครามหรือวัดบางพลีใหญ่ในตราบจนทุกวันนี้ เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มากอีกรูปหนึ่งของเมืองไทย คือ หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน
บางตำนานได้เล่าว่ามีพระพุทธรูปพี่น้องอยู่ห้าองค์ อีกสององค์คือ หลวงพ่อไร่ขิง วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และ หลวงพ่อ(ทอง)เขาตะเครา วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี และบางพื้นที่เล่าเป็นพระพุทธรูปพี่น้องหกองค์ โดยเพิ่ม หลวงปู่หิน วัดอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ด้วย

ประวัติศาสตร์

หลวงพ่อโสธร น่าจะประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธร มานานแล้ว อย่างน้อยๆ ก็ ถึง สมัยเจ้าสามพระยา (500-600 ปีก่อน) เป็นพระหินทรายประกอบสมัยอยุธยา และเดิมที วัดนี้ก็ชื่อโสธร ตามชื่อคลองโสธร มานานแล้ว ไม่มีหลักฐานที่บอกว่าชื่อ วัดหงษ์ เพราะ เสาหงษ์หัก เลยชื่อ เสาทอน เพี้ยนมาเป็นโสธร ตามตำนานหลวงพ่อโสธร นิราศฉะเชิงเทราและโคลงนิราศปราจีนบุรี ที่แต่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อกวีเดินทางผ่านบ้านโสธร ก็กล่าวถึงเพียงวัดโสธรเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงหลวงพ่อโสธรเลย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2416 พระยาวิเศษฤๅไชย(ช้าง) เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ได้สร้างพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร และสร้างถนนดินจากหน้าเมืองมาวัดโสธร 26 เส้น นางมีภรรยาได้สร้างศาลาและขุดสระกึ่งกลางถนน สันนิฐานว่าการบูรณะครั้งนั้น ได้พอกปูนปั้นหลวงพ่อโสธรทำให้กลายเป็นพุทธศิลป์ล้านช้าง เพราะกลุ่มช่างที่บูรณะมาจากเมืองพนมสารคาม หลังจากนั้นก็ได้ใช้พระอุโบสถเป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา
ส่วนตำนานหลวงพ่อโสธรลอยน้ำมานั้น สันนิฐานว่ามาจากกลุ่มคนมอญแถววัดโสธรที่นำตำนานพระลอยน้ำจากพระราชพงศาวดารเหนือ มาอธิบายประวัติหลวงพ่อโสธร

พระอุโบสถหลังใหม่

แต่เดิม หลวงพ่อพุทธโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็กซึ่งสร้างใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมกับพระพุทธรูปองค์อื่นๆอีก 18 องค์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จราชดำเนินมาที่วัดแห่งนี้ มีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม พระจิรปุณโญ (ด. เจียม กุลละวณิชย์) อดีตเจ้าอาวาสจึงได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานการสร้าง และทรงเป็นผู้กำกับดูแลงานสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. 2531 และทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ น้ำหนัก 77 กิโลกรัม ประดิษฐานเหนือยอดมณฑป เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาทรงตัดหวายลูกนิมิต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2549 
การก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ สร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม โดยใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์ 
ศิลปะภายในพระอุโบสถหลวงพ่อพุทธโสธร ประกอบด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังโดยรอบนับตั้งแต่พื้นพระอุโบสถ เสา ผนัง และเพดานจะบรรจุเรื่องราวให้เป็นแดนแห่งทิพย์ เป็นเรื่องราวของสีทันดรมหาสมุทร จตุโลกบาล สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พรหมโลก ดวงดาว และจักรวาล โดยตำแหน่งของดวงดาวบนเพดาน กำหนดตำแหน่งตรงกับวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2539 ณ เวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธียกยอดฉัตรทองคำ
อนึ่ง ในการสร้างพระอุโบสถใหม่ครั้งนั้น กรมศิลปากรได้ทำการกะเทาะปูนปั้นที่หุ้มองค์หลวงพ่อโสธรออก ทำให้พบว่าหลวงพ่อโสธรเป็นหินทราย 11 ชิ้น ศิลปะอยุธยาตอนต้น โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระพรหมคุณาภรณ์ (จิรปุญโญ ด.เจียม กุลละวณิชย์) อดีตเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร และดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร ได้ร่วมเป็นพยานบุคคลในการปฏิบัติงานกะเทาะปูนหลวงพ่อโสธรด้วย

งานเทศกาลประจำปี

เทศกาลประจำปีหลวงพ่อโสธรจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง คือ
  • ครั้งแรกจัดช่วงเดือน 5 เรียกว่า งานกลางเดือน 5 เริ่มจัดงานตั้งแต่วันขึ้น 14-15 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 รวม 3 วัน
  • ครั้งที่สองจัดช่วงเดือน 12 เรียกว่า งานกลางเดือน 12 เริ่มจัดงานตั้งแต่วันขึ้น 12 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 12 รวม 5 วัน โดยจัดร่วมกับงานกาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา
ภาพโดย
คงชีพ ธรรมทัศนานนท์
ขอบคุณที่มาข้อมูล https://th.wikipedia.org/wiki/พระพุทธโสธร