หน้าเว็บ

วัดขอนชะโงก ปิดทองฝังลูกนิมิต 2560

โดย คงชีพ ธรรมทัศนานนท์
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560



สงกรานต์ 3 วัน 13-15 เม.ย.เริ่มมีเมื่อใด ปีใหม่ไทยในอดีตเปลี่ยนไปมา ชาวบ้านตามตรวจดูวันเอง

ที่มาศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2529

ผู้เขียนส.พลายน้อย

เผยแพร่

เมื่อมีผู้ถามถึงวันขึ้นปีใหม่ของไทย ผู้เขียนก็อดถามไม่ได้ว่าวันขึ้นปีใหม่ของไทยสมัยไหนเพราะไทยเราเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาหลายครั้งหลายหน

แรกเริ่มเดิมทีก็คงจะถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะคนโบราณนับข้างแรมเป็นต้นเดือน และเดือนอ้ายก็บอกชัดอยู่แล้วว่าเป็นเดือนแรก ถัดไปก็เดือนยี่ เดือนสาม เดือนสี่ ฯลฯ เป็นแบบไทยแท้

เข้าใจกันว่าที่กําหนดเอาเดือนอ้ายเป็นต้นปีก็เพราะในระยะเวลาระหว่างนั้นอยู่ในฤดูหนาว คือพ้นจากฤดูฝนซึ่งอากาศมืดมัวมาเป็นสว่างเหมือนอย่างเป็นเวลาเช้าจึงได้นับเอาเดือนอ้ายเป็นต้นปี

การถือเดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่จะเลิกไปเมื่อใดไม่ทราบได้ แต่คงจะนานมากถ้าถือตามกฎมณเฑียรบาลที่ตั้งขึ้นเมื่อจุลศักราช 720 (พ.ศ. 1901) ก็ไม่ได้กําหนดเดือนอ้ายเป็นเดือนขึ้นปีใหม่แล้ว เพราะกําหนดไว้ว่า เดือน 4 การสัมพัจฉรฉินท์คือพิธีสิ้นปี หมายถึงตรุษ และเดือน 5 การพระราชพิธีเผด็จศก ลดแจตร ออกสนาม ซึ่งหมายถึงขึ้นปีใหม่นั้นเอง

ลดแจตร จะหมายถึงอะไรไม่ทราบ แต่แขกเรียกเดือน 5 ว่าเดือนจิตร เสียงใกล้กันชอบกล ตามตำนานว่าตั้งจุลศักราช 1 ในปีกุนเอกศก ยามรุ่งแล้ววันจันทร์เดือน 5 ขึ้น 2 ค่ำ ด้วยเหตุนั้นปีใหม่จึงเริ่มในเดือน 5 มีโหรคำนวณวันสงกรานต์ประจำราชสำนัก

การเปลี่ยนปีใหม่เอาเดือนห้ามาเป็นต้นปีนี้ ไทยจะได้รับแบบอย่างมาจากไหนไม่พบหลักฐาน บางท่านว่าได้รับคติมาจากพราหมณ์ซึ่งใช้วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่ไทยเราออกจะมีเรื่องยุ่ง คือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นการเปลี่ยนปีนักษัตร (ชวด ฉลู ขาล ฯลฯ) แล้วต่อมาอีกราว 15 วันพระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษแล้วจึงเปลี่ยนศักราชอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในสมัยโบราณใช้จุลศักราช (เป็นเรื่องของโหรที่จะคำนวณให้แน่ชัดว่าวันไหนจึงเปลี่ยนศักราช)

และในสมัยโบราณ วันสงกรานต์ก็ไม่ตรงกับในสมัยนี้ ถ้าแบบปัจจุบันกำหนดไว้ 3 วันคือ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เป็นวันกลางเรียกว่าวันเนา และวันที่ 15 เป็นวันเถลิงศกซึ่งก็อาจเลยไปวันที่ 16 ก็ได้

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พระราชพงศาวคารกล่าวว่า จุลศักราช 1129 ปีกุนนพศก ถึง ณ วันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือนห้าวันเนา สงกรานต์วันกลาง พม่าจุดเพลิงเผาฟืนสุมรากกําแพงแล้วยิงปืนใหญ่เข้ามาในกรุงพร้อมกันตั้งแต่เพลาบ่ายสามโมงเศษจนพลบค่ำ พอกําแพงทรุดก็พากันเอาบันไดพาดเข้ากรุง

วันที่พม่าเข้าเมืองนั้นเป็นวันเนา นักประวัติศาสตร์ว่าตรงกับวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา วันมหาสงกรานต์ก็ต้องเป็นวันจันทร์ที่ 6 เมษายน ดังนี้ จะเห็นว่าวันสงกรานต์คงไม่ตรงกับทุกปี ได้เคยตรวจวันสงกรานต์ในสมัยรัชกาลที่ 4 ดูเล่น ก็เห็นเป็นวันที่ 11 เมษายนบ้าง วันที่ 12 เมษายนบ้าง มีอยู่ปีหนึ่งพลัดเข้าไปอยู่ในเดือน 6 คือ เมื่อ พ.ศ. 2404 วันสงกรานต์ตรงกับวันที่ 11 เมษายน (วันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 2 ค่ำ)

ฉะนั้นในสมัยโบราณเมื่อใครต้องการจะรู้ว่าวันสงกรานต์เป็นวันใดก็ต้องคอยฟังประกาศของทางราชการ หรือต้องการรู้ว่านางสงกรานต์ชื่ออะไร ถืออะไร ก็ต้องเข้าไปดูประกาศหรือภาพเขียนในพระบรมมหาราชวังจึงจะรู้

เรื่องสงกรานต์ของไทยนอกจากมีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลดังกล่าวแล้ว ก็มีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเคยตรัสเมื่อได้ทราบข่าวพระเจ้าแปรยกทัพมาประชิดชายแดนไทยว่า “จะไปเล่นตรุษเมืองละแวก สิสงกรานต์ชิงมาก่อนเล่า จําจะยกออกไปเล่นสงกรานต์กับมอญให้สนุกก่อน” แสดงว่าการเล่นสงกรานต์คงมีแน่ และที่ว่าเล่นสงกรานต์กับมอญก็ชอบกล

ตํานานสงกรานต์ที่เรารู้อยู่ทุกวันนี้ก็คือ ฉบับที่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ก็ขึ้นต้นไว้ว่าเป็นพระบาลีฝ่ายรามัญคือแปลมาจากฉบับรามัญ ของไทยแท้ ๆ เห็นจะต้องไปเอาจากต่างประเทศ เพราะมีเรื่องไม่ตรงกับฉบับรามัญอยู่หลายอย่าง

อย่างไรก็ตาม พอจะอนุมานได้ว่า วันขึ้นปีใหม่ตามแบบชาวบ้านของไทยถือเอาวันสงกรานต์เป็นหลัก แต่ตามแบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 คงจะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปีนักษัตรเป็นหลัก

และในรัชกาลที่ 5 นี้เองได้เกิดประเพณีการเลี้ยงปีใหม่ขึ้นเป็นคราวแรก เมื่อ พ.ศ. 2417 ดังปรากฏในพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า

“ครั้นต่อมาภายหลังเมื่อใช้ธรรมเนียมฝรั่งชุกชุมขึ้นมีการเลี้ยงโต๊ะในวังเนือง ๆ จนถึงปีจอ จ.ศ. 1236 เมื่อย้ายมาอยู่พระที่นั่ง (จักรีมหาปราสาท) จึงได้ เกิดการเลี้ยงปีใหม่ขึ้นเป็นคราวแรก แต่เลี้ยงเฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ ประมาณหกสิบพระองค์ตลอดมา เว้นไว้แต่ปีใด ซึ่งมีเหตุการณ์ขัดข้องก็เลื่อนไปเป็นสงกรานต์บ้าง ยกเสียทีเดียวบ้าง บางปีก็มีแต่งพระองค์ต่าง ๆ ตามซึ่งเรียกอย่างฝรั่งว่าแฟนซีเดรสส์

บางปีก็แต่งพระองค์ตามธรรมเนียม และมีการเล่นต่าง ๆ ต่อเวลาเลี้ยงโต๊ะแล้ว เป็นอย่างเล่นโยนน้ำบ้าง เล่นกลบ้าง เล่นเธียเตอร์บ้าง มีแฟร์ขายของครั้งหนึ่ง เมื่อปีกุน นพศก 1249 มีละครที่หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในเวลาค่ำด้วยทุกคราวและในเวลาที่เลี้ยงปีใหม่นี้มีฉลากของพระราชทานของพระบรมวงศานุวงศ์ที่มานั่งโต๊ะด้วยทุก ๆ พระองค์ และมีขนมพระราชทานเจ้านาย ข้าราชการในหมู่กรมต่าง ๆ หลายแห่ง การบางปีก็สนุกครึกครื้นมาก บางปีก็ไม่สู้สนุกครึกครื้น บางปีก็ประชุมอยู่จนเวลารุ่งเช้า บางปีก็เลิกไปในเวลาดึก”

ในการเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์ในวันปีใหม่นั้น มีธรรมเนียมเกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือจะมีชักเปี๊ยะห่อของพระราชทานแจกด้วย และในห่อชักเปี๊ยะนั้นมีโคลงแต่งเป็นข้อความขําขันใส่ไว้ด้วย ตัวอย่างเช่นแต่งว่า

งามยศงามศักดิ์พร้อม งามสม
เป็นที่นิยมชม ทั่วหน้า
ถ้อยคําก็คายคม เปรื่องปราชญ์
กินก็เก่งกาจกล้า ไม่รู้กี่ชาม
ฯลฯ

 ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ต้น จะเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่ไม่ได้กําหนดแน่นอนจนกว่าโหรจะได้คํานวณวันแล้วประกาศให้ทราบ ชาวบ้านชาวเมืองก็ยากที่จะรู้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงจะทรงพิจารณาเห็นความลําบากในการใช้วันเดือนปีแบบจันทรคตินี้อยู่เหมือนกัน จึงได้ทรงพระราชดําริหาทางแก้ไข และในที่สุดได้มีพระบรมราชโองการประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่ มีคําปรารภในตอนต้นว่า

“ด้วยทรงพระราชดําริถึงวิธีนับวันเดือนปีที่ใช้กันอยู่ในสยามรัฐมณฑล และที่ใช้ในประเทศใหญ่น้อยเป็นอันมากในโลกนั้น เป็นวิธีต่างกันอยู่มาก คือกล่าวโดยย่อก็เป็นวิธีใช้ตามจันทรคติอย่างหนึ่ง และสุริยคติอย่างหนึ่ง จึงทรงพระราชดําริ ว่า…” ต่อจากนี้เป็นเรื่องทางดาราศาสตร์ยืดยาว และลงท้ายให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ซึ่งจะคัดมาเฉพาะความที่สําคัญดังนี้

“ข้อ 1 ให้ตั้งวิธีนับ ปี เดือน ตาม สุริยคติกาลดังว่าต่อไปนี้ เป็นปีปรกติ 365 วัน ปีอธิกสุรทิน 366 วัน ให้ใช้ศักราชตามปีตั้งแต่ตั้งกรุงเทพมหานครบวร รัตนโกสินทร์มหินทรายุทธยาบรมราชธานี นั้น เรียกว่า รัตนโกสินทรศก ใช้เลขปีในรัชกาลทับหลังศกด้วย..

“ข้อ 2 ปีหนึ่ง 12 เดือน มีชื่อตามราษีที่เดือนนั้นเกี่ยวข้องอยู่ มีลําดับดังนี้ เดือนที่ 1 ชื่อ เมษายนมี 30 วัน…วันในเดือนหนึ่งนั้นให้เรียกว่าวันที่ 1 วันที่ 2…

“ข้อ 3 ให้นับใช้วิธีนี้ในราชการ และการสารบาญชีทั้งปวง ตั้งแต่วันที่ 2 เดือน 5 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู ยังเป็นสัมฤทธิศก จุลศักราช 1250 นั้น เป็นวันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทรศก 108 ต่อไป แต่วิธีวันเดือนปีตามจันทรคติซึ่งเคยใช้มาในการกําหนดพระราชพิธีประจําเดือนต่าง ๆ ก็ดี แลใช้สังเกตเป็นวันกําหนดหยุดทำการก็ดี ให้คงใช้ตามเดิมนั้น ฯลฯ”

สรุปว่าในพระบรมราชโองการที่ประกาศนั้น ให้เลิกใช้จุลศักราชในทางราชการ เปลี่ยนมาใช้รัตนโกสินทรศก โดยเริ่มในปีรัตนโกสินทรศก 108 (พ.ศ. 2432) เป็นต้นมา และเรียกชื่อเดือนว่าเมษายน พฤษภาคม ฯลฯ ตามทางสุริยคติเป็นครั้งแรก รวมทั้งเรียกวันเป็นวันที่ 1 วันที่ 2 ฯลฯ ด้วย แต่ก็ยังให้ใช้วันเดือนปีตามจันทรคติคือวันขึ้นแรม เดือนอ้าย เดือนยี่ และปีชวด ฉลู หรือจุลศักราชต่อไปได้ เพราะเป็นหลักทางโหราศาสตร์ซึ่งราษฎรเคยใช้มาแล้ว

เมื่อลำดับเรื่องดูแล้วคงได้ความว่า สมัยโบราณไทยคงถือวันแรม เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ แล้วเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 รวมทั้งมีวันสงกรานต์ด้วย ต่อมาในพ.ศ. 2432 วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันที่ 1 เมษายน พอดี รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวัน 1 เมษายน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การใช้รัตนโกสินทรศกได้ใช้ต่อมาถึงปี ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณาเห็นว่าปีรัตนโกสินทรศกนับย้อนไปในอดีตได้เพียงร้อยปีเศษเท่านั้นไม่พอใช้จึงโปรดเกล้าฯให้เลิกใช้รัตนโกสินทรศก ให้ใช้พุทธศักราชแทนส่วนวันเดือนปีคงใช้ไปตามเดิม

อย่างไรก็ตาม การกำหนดเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ ก็ดูเหมือนจะถือกันเคร่งครัดเฉพาะในวงราชการงานเมืองเท่านั้น ส่วนประชาชนพลเมืองทั่ว ๆ ไป ยังคงถือเอาวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ทำบุญตักบาตรสนุกสนานรื่นเริงกันมาก ไม่ได้ถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพราะไม่ปรากฏว่าได้มีการทำบุญสุนทานกันแต่อย่างไรจึงออกจะเลือน ๆ ไป

ครั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อ พ.ศ. 2475 แล้ว ทางราชการได้พิจารณาเห็นว่าควรฟื้นฟูประเพณีวันขึ้นปีใหม่ที่ซบเซาไปนานแล้วนั้นให้ฟื้นขึ้นมาอีก จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ขึ้นในกรุงเทพฯเป็นครั้งแรก ในการจัดงานครั้งนั้น คณะกรรมการได้แสดงความประสงค์ที่สำคัญไว้ตอนหนึ่งว่า

“ความประสงค์อันแท้จริงของคณะกรรมการจะได้ตกลงหรือยึดถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันรื่นเริงปีใหม่เสมอไปทุกปีก็หาไม่ เพราะการที่ฟื้นฟูวันปีใหม่นี้มิได้ตั้งใจจะให้มีแต่เฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น ความประสงค์ใคร่จะให้ฟื้นฟูกันทุกจังหวัด ซึ่งจะต้องอนุโลมตามกาลเทศะแห่งท้องถิ่น แต่ความประสงค์ในชั้นที่สุดมีว่า เมื่อได้มีการฟื้นฟูกันแพร่หลายกันไปทุกหนทุกแห่งแล้ว และถ้าส่วนมากได้นิยมยึดถือเอาวันใดเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาติไทยเราแล้ว เมื่อนั้นแหละจึงควรตกลงกันเด็ดขาดว่า ให้ถือเอาวันนั้นเป็นวันขึ้นปีใหม่ และมีการรื่นเริงกันในวันนั้น เพราะย่อมเป็นการไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะปล่อยให้ยึดถือวันขึ้นปีใหม่แตกต่างกันสำหรับประชาชาติเดียวกัน”

ดังนั้นแสดงว่าได้เริ่มมีความคิดเห็นในเรื่องวันขึ้นปีใหม่ของไทยที่มีอยู่หลายวันขึ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 ได้แพร่หลายออกมาในต่างจังหวัดในปีต่อมา และในปีพ.ศ. 2477 ก็ได้จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด

อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในสมัยนั้นทางราชการไม่ได้เรียกวันที่ 1 เมษายนว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ แต่เรียกว่าเป็น “วันตรุษสงกรานต์” เช่นเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2480 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่าวันที่ 31 มีนาคม และวันที่ 1-2 เมษายนรวม 3 วัน เป็นวันตรุษสงกรานต์ แล้วมีวงเล็บไว้ข้างท้ายเป็นภาษาอังกฤษว่า (New Year) แสดงว่าในสมัยนั้นเรียกวันขึ้นปีใหม่ 1 เมษายน ว่าเป็น “วันตรุษสงกรานต์” ส่วนวันสงกรานต์จริง ๆ ไม่ได้ถือเป็นวันหยุดราชการ พึ่งจะมากำหนดให้ถือวันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์และวันหยุดราชการเมื่อพ.ศ. 2491 นี่เอง

ไม่ทราบว่ารัฐบาลในสมัยนั้นมีเจตนาอย่างไร ดูประหนึ่งว่าจะไม่ให้มีวันสงกรานต์จริงๆ (ซึ่งอยู่ในระหว่างวันที่ 12-13 เมษายน) โดยรวบรวมไว้ในวันที่ 1 เมษายนเสียเลยทีเดียว และกำหนดให้เป็นวันสงกรานต์เสียอีกด้วย แต่เกรงว่าชาวต่างประเทศจะไม่ทราบก็ต้องวงเล็บภาษาอังกฤษไว้ให้รู้ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่

การฟื้นฟูให้จัดงานรื่นเริงในวันขึ้นปีใหม่ 1 เมษายน ได้ทำอยู่เพียงไม่กี่ปี คณะรัฐมนตรีก็ได้พิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ได้ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วย หลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานกรรมการ ได้เริ่มประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 คณะกรรมการได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน มาเป็นวันที่ 1 มกราคม โดยให้ถือวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ใน พ.ศ. 2483 เป็นปีสุดท้าย ฉะนั้นในปีพ.ศ. 2483 ก็จะมีเพียง 9 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2483 เท่านั้น เมื่อถึงวันที่ 9 มกราคม ก็เริ่มต้นพุทธศักราช 2484 เลยทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ครั้งนี้ ได้มีประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2483 มีใจความว่า

“โดยจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณมา ได้ถือแรม 1 ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปตามคติพราหมณ์ ซึ่งใช้ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ ครั้นต่อมา ภายหลังเมื่อทางราชการนิยมใช้สุริยคติ จึงถือเอาวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นต้นปี แต่ประเทศทั้งหลายนิยมใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปี ซึ่งเป็นการคํานวณโดยดาราศาสตร์และนิยมใช้กันมาเป็นเวลากว่าสองพันปี จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่จะใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นต้นปีอย่างประเทศทั้งหลาย

การใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ นอกจากจะได้ระดับกับนานาอารยประเทศแล้ว ยังจะเป็นการสอดคล้องตามแบบจารีตประเพณีโบราณ ของไทย และเป็นการใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปีอีกด้วย

อนึ่งได้มีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติปีประดิทิน พุทธศักราช 2483 ให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 17 ธันวาคม 2483 แล้วจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ คณะสงฆ์ และอาณาประชาราษฎร์ทั้งมวล นิยมถือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ และให้ถือเป็นจารีตประเพณีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นต้นไป”

สรุปแล้ว ทางราชการมีเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ดังนี้

1. การเปลี่ยนแปลงไม่ขัดกับพระพุทธศาสนา
2. การเปลี่ยนแปลงใหม่เป็นการเลิกวิธีที่เอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. เป็นการถูกต้องตามหลักวิชาที่ใช้มา แต่โบราณกาล ซึ่งถือเอาดินฟ้าอากาศเป็นสําคัญ
4. เป็นการทําให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก
5. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย
6. เป็นการแสดงให้โลกเห็นว่าวิธีโบราณของเราก็ต้องตรงตามวิธีสากล ซึ่งแสดงให้เห็นความเจริญรุ่งโรจน์แห่งวัฒนธรรมของชาติไทยในอดีตกาล

การเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ของไทยครั้งนี้ รู้สึกว่าออกจะเนือย ๆ อยู่บ้าง เพราะในวันที่ 1 มกราคม 2484 อันเป็นวันประเดิมเริ่มแรกนั้นเอง ฝรั่งเศสซึ่งปกครองอินโดจีนอยู่นั้นก็ยิงปืนกลและปืนเล็กจากห้วยทรายข้ามฟากมาที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งไม่ใช่เป็นการฉลองวันปีใหม่ให้ไทย แต่เป็นการเริ่มสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ข่าวการต่อสู้ตามชายแดนจึงกลบเรื่องวันขึ้นปีใหม่เสียหมด

อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การทําบุญวันขึ้นปีใหม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ในสมัยก่อนการทําบุญวันตรุษ วันสงกรานต์ ทุกคนไปทําบุญที่วัด แต่เมื่อมีการทําบุญวันขึ้นปีใหม่ตามแบบใหม่ กลับชักชวนให้ประชาชนทําบุญนอกวัด

มีการจัดทําบุญหน้าศาลากลางจังหวัดบ้าง ที่สนามหลวง สนามอะไรต่างๆ ห่างวัดออกไปทั้งๆ ที่อยากให้คนเข้าวัด นโยบายจึงสวนทางกัน เพราะมุ่งแต่ดังประการเดียว


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 13 เมษายน พ.ศ.2562

ที่มา  https://www.silpa-mag.com/history/article_31026

วันครอบครัวในประเทศไทย

 วันครอบครัวในประเทศไทยถือเอาวันที่ 14 เมษายนเป็นวันครอบครัว ซึ่งเป็นวันที่ 2 ในช่วงสงกรานต์

ความเป็นมา

ประเทศไทยเริ่มมีวันครอบครัวขึ้นครั้งแรกตามมติของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 ให้วันแห่งครอบครัวเป็นวันหยุดราชการตามมติในที่ประชุมของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายสังคม ครั้งที่ 4/2532 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2532 แต่ยังมิได้ระบุวันไว้ 

กระทั่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปีเป็นวันครอบครัวตามที่ สุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเป็นผู้เสนอ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ใช้คำว่า "Family day" สำหรับวันแห่งครอบครัว

นอกจากนี้ ในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอมาตรการรณรงค์และควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกำหนดให้ทุกวันอาทิตย์เป็นวันครอบครัวแข็งแรง (Healthy Family Day) ของสังคมไทย 

ต่อมาในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีข้อสั่งการในการแก้ไขปัญหาสังคมเรื่องร้านเกมและการเที่ยวกลางคืนของวัยรุ่นนั้น ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีว่าเพื่อให้การสร้างครอบครัวแข็งแรงมีผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วสมควรเร่งรณรงค์ให้วันอาทิตย์ของแต่ละสัปดาห์เป็นวันครอบครัว คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

ตรุษไทย

 ตรุษไทย เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรตามหลักโหราศาสตร์ไทย โดยคำว่าตรุษนั้น เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าตัด หรือการสิ้นไป วันตรุษจึงถือเป็นวันสิ้นปีของคนไทยมาแต่โบราณ โดยประเพณีนี้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยคู่กับประเพณีสงกรานต์ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่มาแต่โบราณ จึงมักเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

โดยประเพณีตรุษไทย มีกำหนดคือ วันแรม 14-15 ค่ำ เดือน 4 ถือว่าเป็นวันสิ้นปี ตามการนับแบบจันทรคติ ตามอิทธิพลทางโหราศาสตร์จากชมพูทวีป และกำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ เมื่อเริ่มเข้าสู่ราศีเมษตามการนับแบบสุริยคติที่ได้รับอิทธิพลทางโหราศาสตร์จากชาวตะวันตก

แต่แม้จะกำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ของไทย แต่เกณฑ์การเปลี่ยนปีนักษัตรก็ยังใช้วันตรุษเป็นเกณฑ์ เพราะแนวคิด12 นักษัตรเป็นแนวคิดทางเอเซียตะวันออกมานานเป็นพันปีแล้ว ซึ่งชาวเอเซียตะวันออกใช้หลักโหราศาสตร์ทางจันทรคติมาเก่าก่อน

ทั้งนี้คนไทยแต่โบราณเชื่อว่าในวันตรุษนี้ เทวดาผู้ดูแลโลก ดูแลประเทศ ดูแลเมือง จะเปลี่ยนแปลงผู้มาทำหน้าที่ จึงควรทำพิธีบรวงสรวงต้อนรับเทวดาที่มาใหม่และขอบคุณเทวดาที่เคยปกปักรักษา

ประวัติ

ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทย ถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติ แต่ต่อมาในสมัยสุโขทัย ได้ถือว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเรียกว่าวันตรุษ ซึ่งประเพณีวันตรุษไทยได้รับคติมาจากศรีลังกา ที่รับประเพณีวันตรุษซึ่งเป็นประเพณีเดิมของชนชาติทมิฬอีกทอดหนึ่ง และมีการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นงานนักขัตฤกษ์ใหญ่ เพื่อสร้างสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง

ภายหลังได้กำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่และวันตรุษเป็นเพียงวันสิ้นปีเก่า จากอิทธิพลทางโหราศาสตร์จากตะวันตก ที่วันปีใหม่คือวันที่เริ่มเข้าสู่ราศีเมษ โดยราชสำนักไทยเรียกประเพณีตรุษนี้ว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ โดยมีการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและบำเพ็ญกิจโดยเอนกปริยาย เพื่อขับไล่อัปมงคลและสร้างสิริมงคลแก่พระนครเนื่องในการขึ้นปีใหม่ โดยพระราชพิธีนี้ได้ปฏิบัติสืบมา และยกเลิกลงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวก เพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ราชอาณาจักรสยามกำหนดวันขึ้นปีใหม่ โดยใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนให้เป็นวันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่สากล ในปี พ.ศ. 2483 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ประเพณีตรุษไทยในปัจจุบัน

เนื่องด้วยประเพณีตรุษ กำหนดวันโดยใช้ปฏิทินทางจันทรคติ ทำให้ส่วนใหญ่วันตรุษจะกำหนดลงในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งใกล้กับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบความสำคัญของวันตรุษไทยนี้ อย่างไรก็ตามวัดตามภาคกลางในประเทศไทยยังคงนิยมจัดประเพณีตรุษไทยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

โดยประเพณีตรุษไทยในปัจจุบัน ยังคงจัดเป็นสอง หรือสามวัน(คือวันแรม14 หรือ 15 ค่ำเดือน 4 และวันขึ้น 1ค่ำเดือน 5) ตามแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการทำบุญตักบาตรบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศให้บรรพชนผู้ล่วงลับ โดย มีรูปแบบการบำเพ็ญกุศลเหมือนกับในวันธัมมัสวนะอื่น ๆ แต่ที่ต่างออกไปคือ พุทธศาสนิกชนที่มาบำเพ็ญกุศล มักนำขนมไทยคือข้าวเหนียวแดง ข้าวต้มมัด หรือกาละแม มาถวายพระเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ


ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ตรุษไทย