หน้าเว็บ

ตรุษไทย

 ตรุษไทย เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตรตามหลักโหราศาสตร์ไทย โดยคำว่าตรุษนั้น เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าตัด หรือการสิ้นไป วันตรุษจึงถือเป็นวันสิ้นปีของคนไทยมาแต่โบราณ โดยประเพณีนี้สืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยคู่กับประเพณีสงกรานต์ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่มาแต่โบราณ จึงมักเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

โดยประเพณีตรุษไทย มีกำหนดคือ วันแรม 14-15 ค่ำ เดือน 4 ถือว่าเป็นวันสิ้นปี ตามการนับแบบจันทรคติ ตามอิทธิพลทางโหราศาสตร์จากชมพูทวีป และกำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ เมื่อเริ่มเข้าสู่ราศีเมษตามการนับแบบสุริยคติที่ได้รับอิทธิพลทางโหราศาสตร์จากชาวตะวันตก

แต่แม้จะกำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันปีใหม่ของไทย แต่เกณฑ์การเปลี่ยนปีนักษัตรก็ยังใช้วันตรุษเป็นเกณฑ์ เพราะแนวคิด12 นักษัตรเป็นแนวคิดทางเอเซียตะวันออกมานานเป็นพันปีแล้ว ซึ่งชาวเอเซียตะวันออกใช้หลักโหราศาสตร์ทางจันทรคติมาเก่าก่อน

ทั้งนี้คนไทยแต่โบราณเชื่อว่าในวันตรุษนี้ เทวดาผู้ดูแลโลก ดูแลประเทศ ดูแลเมือง จะเปลี่ยนแปลงผู้มาทำหน้าที่ จึงควรทำพิธีบรวงสรวงต้อนรับเทวดาที่มาใหม่และขอบคุณเทวดาที่เคยปกปักรักษา

ประวัติ

ตามจารีตประเพณีแต่ดั้งเดิมของไทย ถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งถือตามปฏิทินทางจันทรคติ แต่ต่อมาในสมัยสุโขทัย ได้ถือว่าวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนห้าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งเรียกว่าวันตรุษ ซึ่งประเพณีวันตรุษไทยได้รับคติมาจากศรีลังกา ที่รับประเพณีวันตรุษซึ่งเป็นประเพณีเดิมของชนชาติทมิฬอีกทอดหนึ่ง และมีการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นงานนักขัตฤกษ์ใหญ่ เพื่อสร้างสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง

ภายหลังได้กำหนดให้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่และวันตรุษเป็นเพียงวันสิ้นปีเก่า จากอิทธิพลทางโหราศาสตร์จากตะวันตก ที่วันปีใหม่คือวันที่เริ่มเข้าสู่ราศีเมษ โดยราชสำนักไทยเรียกประเพณีตรุษนี้ว่า พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ โดยมีการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและบำเพ็ญกิจโดยเอนกปริยาย เพื่อขับไล่อัปมงคลและสร้างสิริมงคลแก่พระนครเนื่องในการขึ้นปีใหม่ โดยพระราชพิธีนี้ได้ปฏิบัติสืบมา และยกเลิกลงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงเห็นว่าไทยได้ติดต่อกับประเทศต่าง ๆ มากขึ้น การใช้ปฏิทินทางจันทรคติไม่เหมาะสมและไม่สะดวก เพราะไม่ลงรอยกับปฏิทินสากล จึงประกาศให้ราชอาณาจักรสยามกำหนดวันขึ้นปีใหม่ โดยใช้วันทางสุริยคติตามแบบสากลแทน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2432 เป็นต้นมา และถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย ต่อมาได้เปลี่ยนให้เป็นวันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่สากล ในปี พ.ศ. 2483 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ประเพณีตรุษไทยในปัจจุบัน

เนื่องด้วยประเพณีตรุษ กำหนดวันโดยใช้ปฏิทินทางจันทรคติ ทำให้ส่วนใหญ่วันตรุษจะกำหนดลงในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งใกล้กับเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ทราบความสำคัญของวันตรุษไทยนี้ อย่างไรก็ตามวัดตามภาคกลางในประเทศไทยยังคงนิยมจัดประเพณีตรุษไทยตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

โดยประเพณีตรุษไทยในปัจจุบัน ยังคงจัดเป็นสอง หรือสามวัน(คือวันแรม14 หรือ 15 ค่ำเดือน 4 และวันขึ้น 1ค่ำเดือน 5) ตามแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการทำบุญตักบาตรบำเพ็ญกุศลเพื่ออุทิศให้บรรพชนผู้ล่วงลับ โดย มีรูปแบบการบำเพ็ญกุศลเหมือนกับในวันธัมมัสวนะอื่น ๆ แต่ที่ต่างออกไปคือ พุทธศาสนิกชนที่มาบำเพ็ญกุศล มักนำขนมไทยคือข้าวเหนียวแดง ข้าวต้มมัด หรือกาละแม มาถวายพระเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ


ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ตรุษไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น